โครงการการแข่งขันกีฬาฟุตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี
ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ระดับอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 ระดับชาติ ครั้งที่ 2
ระหว่างวันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สนามช้างอารีน่า จังหวัดบุรีรัมย์
หลักการและเหตุผล
ตามนโยบายของรัฐบาล เรื่อง การนำกีฬาเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาฯ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงค์) ได้บัญชามอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์เป็นกรณีพิเศษ ในภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2562 จัดกีฬาจัดง่าย เป็นที่นิยม ไม่ต้องมีหลายประเภท โดยศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ นั้น
ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ จึงกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อหารือพิจารณาการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ กรณีพิเศษ และที่ประชุมได้มีมติให้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ระดับอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 ในการแข่งขันระดับชาติ มอบหมายให้อาชีวศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 17 – 24 กุมภาพันธ์ 2563 ณ จังหวัดบุรีรัมย์
วัตถุประสงค์
- 1. เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาทุกคนออกกำลังกาย โดยการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง
- 2. เพื่อสร้างความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างคณะครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
- 3. เพื่อเป็นโอกาสให้นักกีฬาอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้มีทักษะของการเล่นกีฬาแบบมืออาชีพ
- 4. เพื่อส่งเสริมเชิดชูเกียรตินักกีฬาอาชีวศึกษาประเภทต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกระดับชาติเข้าเป็นตัวแทนทีมชาติไทย
- 5. เพื่อเป็นการพัฒนาการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
- 6. เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการแข่งขันกีฬา
- 7. เพื่อยกระดับกีฬาอาชีวะเกมส์ให้เป็นกีฬาระดับสากล
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
- วันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2563
- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ถ่ายทอดรอบชิงชนะเลิศทางสถานีโทรทัศน์ ทรูโฟร์ยู ช่อง 24 (True4U) เวลา18.00–20.00 น.
สถานที่ดำเนินการ
สนามช้างอารีน่า จังหวัดบุรีรัมย์
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- 1. เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติ
- 2. จัดทำและแจ้งกำหนดการให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบ
- 3. จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน
- 4. จัดทำการขอซื้อขอจ้าง/วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน
- 5. ประสานงาน และจัดเตรีมการดำเนินงานในฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- 6. ดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ระดับอาชีวศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 ระดับชาติ
- 7. ติดตามผล ประเมินโครงการ
- 8. สรุปผลการดำเนินงาน
เป้าหมาย
เชิงปริมาณ
- ตัวแทนนักกีฬาฟุตบอลอาชีวศึกษา รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ระดับภาค จำนวน 5 ภาค 16 ทีม ได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาในครั้งนี้
- คณะครู อาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬา ระดับภาค จำนวน 5 ภาค 16 ทีม ได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาในครั้งนี้
- ประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้
เชิงคุณภาพ
- เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน นักศึกษาแต่ละสถานศึกษา เพราะกีฬาเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนานักเรียนนักศึกษาให้มีวินัย มีน้ำใจเป็นนนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และสร้างความสามัคคี และส่งเสริมการสร้างนักกีฬาในสถานศึกษา โดยพัฒนาผู้เรียนที่มีทักษะและความสามารถสู่ความเป็นเลิศระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ และพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อาชีพได้อย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัดความสำเร็จ
- 1. คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ , ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคณะครู อาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬา ผู้ปฏิบัติงานและนักกีฬาที่เข้าร่วมกิจกรรม
- 2. การจัดการแข่งขันฟุตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ระดับอาชีวศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 ระดับชาติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- 1. สร้างนักกีฬาในสถานศึกษา พัฒนาผู้มีทักษะและความสามารถสู่ความเป็นเลิศ ในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ และพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อาชีพ
- 2. นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันได้รับการยกย่อง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาตนเอง เกิดเครือข่ายผู้ปกครอง องค์กรท้องถิ่น ชุมชนและหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน เพื่อการพัฒนาด้านกีฬาในสถานศึกษาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
- 3. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประสบการณ์ตรงในด้านทักษะการบริหารจัดการ การร่วมการแข่งขัน ร่วมเชียร์ ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ และร่วมจัดการแข่งขัน
- 4. สร้างความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคี ลดความขัดแย้ง อันเป็นการสร้างสันติภาพและความเป็นเอกภาพแห่งชาติ เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
- 5. สามารถสร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้คุมนักกีฬา ผู้ปฏิบัติงาน และนักกีฬา
การติดตามและประเมินผลโครงการ
- 1. บัญชีลงเวลาของคณะกรรมการดำเนินงาน
- 2. จำนวนคณะครู อาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬาและนักกีฬาที่เข้าร่วมกิจกรรม
- 3. ผลการแข่งขัน
- 4. แบบสรุป และรายงานผลการดำเนินโครงการ









